วันจันทร์ที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2555

เทคโนโลยีสารสนเทศสำหรับครู


          การใช้   ICT  ในการเรียนและบูรณาการ
ความนำ
         คอมพิวเตอร์ ถือเป็นสื่อนวัตกรรมใหม่อย่างหนึ่ง เพิ่งแพร่หลายขึ้นมาประมาณ 40 ปี มานี้เอง คอมพิวเตอร์เป็นอุปกรณ์ที่ใช้ในการจัดเก็บ คำนวณ ประมวลผล แสดงผล หรืองานอื่นใด ตามคำสั่ง ที่จัดทำขึ้น แล้วบันทึกเก็บไว้ในหน่วยความจำของอุปกรณ์นั้น ปัจจุบันมีการพัฒนาคอมพิวเตอร์อย่างรวดเร็วมาก จนเป็นสื่อสำคัญยิ่งในการนำเข้าสู่ยุคข้อมูลข่าวสาร ทุก ๆ วินาที สามารถรับรู้ความเป็นไปในทุกพื้นพิภพได้เกือบพร้อมกัน ทั้งที่อยู่กันคนละซีกโลก การรับรู้ข่าวสารที่รวดเร็วนำประโยชน์สู่ผู้ใช้ นำประโยชน์สู่ประเทศชาติได้อย่างมหาศาล เช่น สามารถติดต่อค้าขายกันได้ตลอด 24 ชั่วโมง โดยที่ผู้ซื้อและผู้ขายไม่ต้องพบหน้ากัน ไม่มีข้อจำกัดของเวลา ไม่มีข้อจำกัดด้านพรมแดน สามารถใช้ระบบ E - Commerce และใช้ในเรื่องการศึกษา การแสวงหาความรู้ การสื่อสาร รวมถึงกิจการอื่น ๆ มากมาย หากผู้ใช้สามารถใช้ประโยชน์เป็นอย่างคุ้มค่า
          หลายปีที่ผ่านมาโรงเรียนที่มีความพร้อมเริ่มนำคอมพิวเตอร์มาใช้ในโรงเรียนกันมากขึ้น โรงเรียนดังกล่าวมักจะอยู่ในกรุงเทพฯ และเมืองใหญ่ที่มีเศรษฐกิจดี ผู้ปกครองมีฐานนะทางเศรษฐกิจมั่นคง ช่วงแรกเริ่มใช้เพื่อการบริหารจัดการก่อน เรียกว่า Computer Assisted Management โปรแกรมนี้ช่วยจัดการด้านงานธุรการ เงินเดือน ห้องสมุด งานปกครอง และอื่น ๆ ระยะต่อมาคอมพิวเตอร์มีราคาถูกลง โรงเรียนต่าง ๆ เริ่มนำมาใช้ในการจัดการเรียนการสอน ซึ่งเรียกว่าคอมพิวเตอร์ช่วยสอน (Computer Assisted Instruction) หรือเรียกย่อ ๆ ว่า " CAI " หมายถึง การใช้คอมพิวเตอร์เป็นสื่อเสนอเนื้อหา กระตุ้นเร้าให้ผู้เรียนเกิดความสนใจ ต้องการเรียนรู้ บทบาทของ CAI มีมากขึ้น ผลที่ได้ผู้เรียนได้เรียนในสิ่งที่ตนเองต้องการ ตรงตามความประสงค์ เป็นการตอบสนองความเป็น Child Center ได้ประการหนึ่ง ในกระบวนการจัดการเรียนรู้

             ปัจจุบันรัฐบาลมีนโยบายให้โรงเรียนต่าง ๆ ใช้ ICT เพื่อพัฒนาการเรียนรู้อย่างกว้างขวาง สภาพการณ์ดังกล่าวทำให้ผู้ปกครองเกิดความตื่นตัว ต้องการที่จะให้บุตรหลานได้เรียนรู้จากคอมพิวเตอร์มากขึ้น จนกลายเป็นกระแสของความทันสมัย โรงเรียนใดไม่สอนวิชาคอมพิวเตอร์ ผู้ปกครองจะย้ายเด็กไปเรียนโรงเรียนอื่นที่สอนคอมพิวเตอร์ เป้าหมายสำคัญที่นอกเหนือไปจากภาระงานปกติของโรงเรียน คือการจัดการศึกษาให้ตอบสนองความต้องการของชุมชน ผู้บริหาร คณะครู กรรมการสถานศึกษาโรงเรียนอนุบาลวัดลูกแกประชาชนูทิศ จึงกำหนดวิสัยทัศน์ของโรงเรียน และ แนวปฏิบัติระยะ 5 ปี ดังนี้

 วิสัยทัศน์ (Vision)
          โรงเรียนอนุบาลวัดลูกแกประชาชนูทิศ ได้กำหนดวิสัยทัศน์ในการจัดการศึกษา ให้สอดคล้องกับความต้องการของชุมชน และความเปลี่ยนแปลงในยุคโลกาภิวัฒน์ ดังนี้ โรงเรียนจะดำเนินการ ทุกวิถีทางที่จะพัฒนาผู้เรียน เมื่อเรียนจบหลักสูตรแล้วจะเป็นคนดี มีปัญญา มีความเป็นไทย มีความสามารถในการประกอบอาชีพได้เต็มศักยภาพของตน และศึกษาต่อได้ในระดับที่สูงขึ้น มีคุณธรรม จริยธรรม มีวินัยในตนเอง รู้จักรับผิดชอบในหน้าที่ มีความสามารถในการอ่าน เขียน คิดวิเคราะห์ สื่อความหมายทั้งภาษาไทยและภาษาต่างประเทศ รวมทั้งรู้จักประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเพื่อสืบค้นวิทยาการใหม่ ๆ มีคุณสมบัติพิเศษ คือ สามารถเล่นดนตรี เล่นกีฬาอย่างน้อย 1 ประเภท มีพื้นฐานประกอบอาชีพได้อย่างน้อย 1 อย่าง โดยให้ชุมชนมีส่วนร่วม


การพัฒนาบุคลากร
          โรงเรียนประถมศึกษา โดยทั่วไปครูจะมีคุณวุฒิตรงสาขาวิชาเอกน้อยมาก โรงเรียนอนุบาลวัดลูกแกประชาชนูทิศ เป็นโรงเรียนหนึ่งที่อยู่ในต่างจังหวัด ข้อจำกัดคือไม่สามารถเลือกครูได้ตรงตามความต้องการของโรงเรียน จึงส่งผลถึงการจัดการเรียนการสอน หน้าที่ของโรงเรียนต้องดำเนินการ คือ พัฒนาให้ครูมีศักยภาพ สามารถทำงานสนองความต้องการของผู้เรียน และสนองตอบพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ได้ การพัฒนาครู เป็นสิ่งจำเป็นและโรงเรียนได้กำหนดนโยบาย ดังนี้

          1. พัฒนาให้ครูทุกคนมีความรู้พื้นฐานในการใช้คอมพิวเตอร์ เพื่อเป็นฐานในการเรียนรู้ และใช้คอมพิวเตอร์จัดการเรียนการสอนได้
          2. กำหนดมาตรฐานเบื้องต้นของครูที่จะเข้าทำหน้าที่ครูคอมพิวเตอร์ ไว้ดังนี้
                    2.1 ต้องมีวิสัยทัศน์ มีความคิดกว้างไกล ทันเหตุการณ์ของโลก
                    2.2 พัฒนาตนเองอยู่เสมอ ให้รอบรู้และรู้รอบ ในเรื่องใหม่ ๆ อยู่เป็นนิจ
                    2.3 ขยัน ทันสมัย ใจรัก สละเวลา
          คนที่มีใจรักในสิ่งใด มักจะทุ่มเท เสียสละ ขยัน มุ่งมั่นทำในสิ่งที่ตนรัก งานคอมพิวเตอร์   เป็นงานที่หนัก และมีความสำคัญสูง
โรงเรียนอนุบาลวัดลูกแกประชาชนูทิศ ครูมีภาระหลากหลาย ด้วยเหตุที่ไม่มีเจ้าหน้าที่ส่วนอื่น ๆ เป็นฝ่ายบริการอำนวยความสะดวกได้ หลังจากที่โรงเรียนให้ความรู้ ฝึก และพัฒนาครูให้มีความรู้พื้นฐานทางคอมพิวเตอร์แล้ว โรงเรียนเปิดรับสมัครครูคอมพิวเตอร์จากครู 57 คน ได้ผู้อาสาสมัคร และมีใจรัก จำนวน 4 คน โรงเรียนส่งครูเหล่านี้เข้ารับการฝึกอบรมและพัฒนาจากหน่วยงานอื่น ๆ อย่างต่อเนื่อง โดยเน้นการปฏิบัติจริงในโปรแกรมต่าง ๆ ที่ต้องใช้ในโรงเรียน และใช้สอนนักเรียนอย่างชนิดที่เรียกว่า " รู้จริง ทำได้จริง" ครูเหล่านี้สามารถเป็นครูแกนนำในเรื่องคอมพิวเตอร์ และมอบหมายให้สร้างเครือข่าย ขยายผลในโรงเรียน ให้ครูใช้ ICT เพื่อพัฒนาการเรียนรู้ โรงเรียนวัดลูกแกประชาชนูทิศ ได้รับการพิจารณาคัดเลือก โดยมีมหาวิทยาลัยศิลปากร เป็นพี่เลี้ยง สนับสนุน ส่งเสริม ถ่ายทอดความรู้ เทคนิค และประสบการณ์ต่าง ๆ ให้โรงเรียน ดำเนินการจัดการเรียนการสอน
โดยใช้ ICT เป็นสื่อช่วยในการพัฒนาการเรียนรู้ และศูนย์สารสนเทศ กระทรวงศึกษาธิการ สนับสนุนงบประมาณ สนับสนุนการพัฒนาบุคลากรเกี่ยวกับ การจัดทำวาระวิชาผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ด้วยเว็บไซต์ think.com


รูปแบบการใช้ ICT เพื่อพัฒนาการเรียนรู้
          ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ และการแข่งขันการพัฒนาทางด้านซอฟต์แวร์ ในปัจจุบัน ส่งผลให้ประเทศต่าง ๆ นำคอมพิวเตอร์มาใช้ในด้านการศึกษากันมาก การใช้คอมพิวเตอร์ช่วยสอน(Computer Assisted Instruction) มีบทบาทและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โรงเรียนอนุบาลวัดลูกแกประชาชนูทิศ ใช้คอมพิวเตอร์ช่วยสอนเป็นการพัฒนาผู้เรียนอีกทางหนึ่ง รูปแบบที่โรงเรียนกำหนด โดยอาศัยประสบการณ์ ความรู้ แนวทางของมหาวิทยาลัยศิลปากรถ่ายทอด แนะนำ ให้โรงเรียนปรับประยุกต์ใช้ภายใต้บริบทของโรงเรียน
          1. จัดการเรียนรู้ "ตลอดเวลา" (Anytime) เวลาใดก็สามารถเรียนรู้ได้ ระยะแรกเริ่มให้นักเรียนสามารถใช้ Computer สืบค้นหาความรู้จากห้องสมุด ซึ่งมีเครื่องคอมพิวเตอร์ให้บริการระบบ Internet
          2. เรียนรู้จากแหล่งเรียนรู้ "ทุกหนแห่ง" (Anywhere) นักเรียนสามารถเรียนรู้ร่วมกันจากสื่อต่างๆ เช่น คอมพิวเตอร์ วีดิทัศน์ โทรทัศน์ CAI และอื่นๆ
          3. การให้ทุกคน (Anyone) ได้เรียนรู้พัฒนาตนเองอย่างเต็มศักยภาพของตน ตั้งแต่ระดับอนุบาลเป็นต้นไป


การใช้ ICT เพื่อการเรียนรู้
          การเรียนรู้ในปัจจุบันแตกต่างจากเดิมไปอย่างสิ้นเชิง ซึ่งหมายความว่า ผู้เรียนมีโอกาส มีอิสระในการเรียนรู้ด้วยตนเอง สร้างองค์ความรู้ สร้างทักษะด้วยตนเอง ครูเปลี่ยนบทบาทจากผู้สอนมาเป็น ผู้ให้คำแนะนำ นอกจากนี้ทั้งครูและศิษย์สามารถเรียนรู้ไปพร้อมกันได้ การจัดการเรียนที่โรงเรียนดำเนินการได้ในขณะนี้
          1. การสอนโดยใช้สื่อ CAI ช่วยสอนให้เกิดการเรียนรู้ตามความสนใจ เช่น วิชาคณิตศาสตร์ วิชาภาษาไทย วิชาวิทยาศาสตร์ วิชาสังคม หรือ สปช. วิชาภาษาอังกฤษ
          2. ส่งเสริมให้ผู้เรียนรู้จักสืบค้นวิทยาการใหม่ ๆ จากอินเทอร์เน็ต จาก E-book จาก E-Library
          3. ส่งเสริมการเรียนรู้และสร้างเจตคติที่ดีในการเรียนและการค้นคว้าหาความรู้ โดยกำหนดให้ผู้เรียนได้เล่นเกมการศึกษา (Education Games ) ที่ผ่านการวิเคราะห์ของครูผู้รับผิดชอบว่าไม่เป็นพิษภัยต่อผู้เล่น และเป็นการสร้างเสริมความคิดสร้างสรรค์ที่ดีให้กับเด็ก
          4. ใช้แผนการสอนแบบ ICT บูรณาการเรียนรู้ในสาระวิชาต่างๆ เช่น คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ภาษาอังกฤษ และ คอมพิวเตอร์
          5. จัดระบบข้อมูลสารสนเทศเพื่อการบริหารจัดการเรียนรู้
          6. ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในการจัดระบบและเผยแพร่ความรู้
          7. จัดระบบข้อมูลสารสนเทศแหล่งเรียนรู้ภายในโรงเรียน และภูมิปัญญาชุมชนท้องถิ่น
          8. พัฒนาเครือข่ายการเรียนรู้ในการจัดการเรียนรู้ของผู้สอน


บทสรุป
         การนำเอาเทคโนโลยี เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการเรียนการสอน เป็นการเพิ่มพูน ประสิทธิภาพทางการเรียนรู้แก่ผู้เรียน และในสภาพปัจจุบันการเรียนการสอนก็ไม่อาจหลีกเลี่ยงสิ่งนี้ได้ ครูจะต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการสอนของตนเอง ต้องยอมรับความเปลี่ยนแปลงที่ เกิดขึ้น จึงต้องเรียนรู้เทคโนโลยีต่าง ๆ แล้ววิเคราะห์ความเป็นไปได้ ใช้ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ให้เหมาะสมกับสภาพของโรงเรียน ที่มีความพร้อมในระดับหนึ่ง ครูควรต้องพัฒนาตนเองเพื่อพัฒนาผู้เรียนได้อย่างเหมาะสม และยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง เพื่อนำพาผู้เรียนให้สามารถเรียนรู้ ดำรงตนอยู่ได้อย่างมีความสุข


แหล่งที่มา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น